การเขียนเรียงความ เป็นการที่ผู้เขียนสามารถที่จะนำความคิด และองค์ความรู้ต่างๆ นำมาเรียบเรียงให้เกิดความสะดวกในการอ่าน มีระเบียบ อ่านแล้วเข้าใจ ซึ่งการจะเขียนเรียงความที่ดีจะต้องคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้อง เมื่อรู้ถึงหลักก็สามารถที่จะเขียนเรียงความที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ โดยส่วนประกอบหลักๆของเรียงความมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

คำนำ

คำนำ เป็นเนื้อหาส่วนแรกที่ผู้อ่านจะเจอในเรียงความ ดังนั้นการเขียนคำนำที่ดีไม่ควรใช้คำที่เข้าใจยาก และมีใจความที่ยืดยาว ควรใช้ประโยคที่สั้นและได้ใจความ เน้นสาระของเนื้อหาด้านใน ไม่อ้างอิงสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และที่สำคัญอย่าเขียนให้มีข้อมูลซ้ำกันกับหน้าสรุปเนื้อหาในท้ายเล่ม วิธีเขียนคำนำให้น่าสนใจคือการนำสุภาษิตมาช่วย หรือ อาจจะใช้สำนวนบางประโยคมาช่วยเปิดเรื่อง

เนื้อเรื่อง

ถือเป็นส่วนที่สำคัญสุดของเรียงความ เพราะเป็นส่วนของสาระเนื้อหาสำคัญ ประกอบไปด้วย แนวคิด ความรู้ การเขียนเนื้อเรื่องที่ดีนั้น จะต้องวางโครงเรื่องก่อนที่จะเขียน เช่นช่วงต้นเกริ่นเนื้อหาที่อธิบายเรื่องต่างๆ ช่วงกลางสำหรับการทดลอง ช่วงสุดท้ายอาจเป็นผลของการทดลอง เมื่อวางโครงเรื่องเอาไว้จะทำให้เขียนเรื่องได้เป็นระเบียบ และอ่านได้ใจความง่ายยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรคำนึงเป็นสำคัญคือความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างย่อหน้าที่ควรจะเชื่อมระหว่างกันเสมอ

สรุป

เป็นส่วนสุดท้ายของเรียงความ จะเป็นส่วนของผู้แต่งเอาไว้เขียนทิ้งท้ายให้กับผู้อ่าน เช่น ข้อคิดจากเรียงความ คำเตือน การให้กำลังใจ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ผู้แต่งว่าจะเขียนอะไรลงไป มีหลายสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเขียนหัวข้อสรุป อย่างแรกคือไม่ควรเปิดประเด็นใหม่ให้ผู้อ่านสงสัย อย่างที่สองคืออย่าแสดงออกถึงความไม่รู้ด้วยการเขียนข้อมูลที่ไม่เชี่ยวชาญ และสามคือไม่ควรเขียนหัวข้อสรุปยาวเกินไป แนะนำคือให้เขียนเท่ากับปริมาณของคำที่เขียนอยู่ในคำนำ

สามส่วนประกอบหลักที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลักการเขียนเรียงความที่ดี นอกจากนี้ผู้แต่งยังต้องมีทักษะในการเรียบเรียงเนื้อหาได้อย่างเหมาะสม หลายคนเมื่อเขียนเรียงความที่มีความยาวมากๆ ก็มักจะเกิดปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน เช่น อธิบายเอาไว้ในช่วงต้น และกลับมาอธิบายอีกครั้งในช่วงท้าย ถือเป็นการเรียบเรียงที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังต้องรู้จักเรื่องของ เอกภาพ และสัมพันธภาพ โดยเอกภาพเป็นความเกี่ยวข้องกันของเนื้อหาในแต่ละย่อหน้า ซึ่งเมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่ควรจะมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน สำหรับสัมพันธภาพคือความเกี่ยวเนื่องกันตลอดทั้งเรียงความ ถ้าเราจัดโครงเรื่องดีเราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสัมพันธภาพ